วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่ม 10 ทักษะ

       เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีการประชุมสัมมนาวิชาการเนื่องในมงคลสมัย 1 ศตวรรษสนามหลวงแผนกธรรม โดย ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เทคนิคการสอนและการออกข้อสอบ ว่า ตนได้รับหน้าที่จากนายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ให้ปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติขึ้นเพื่อ ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานมีตนเป็นประธาน ทั้งนี้ เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบันเป็นหลักสูตรที่ออกมาตั้งแต่ ปี 2544 จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรให้ทันกับยุคสมัย  เบื้องต้นได้กำหนดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อยู่ในการปรับปรุงหลักสูตร ประกอบด้วย 10 ทักษะ คือ 
         1.แสวงหาความรู้ใหม่ตลอดชีวิต 
         2.คิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ 
         3.คิด ทำงาน เชิงสร้างสรรค์ 
         4.เจริญสติ ปัญญา สร้างความดี 
         5.สื่อสาร ถ่ายทอดความคิด 
         6.ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้ 
         7.ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ 
         8.แก้ปัญหาได้ 
         9.บริหารความแตกแยกได้
       10.ดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ       ศ.ดร.ภาวิชกล่าวต่อ ไปว่า เรื่องทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็น เรื่องที่ระบบการศึกษาของหลายประเทศให้ความสำคัญ  เพราะโลกเปลี่ยน แปลงมากจึงต้องปรับการเรียนการสอนให้นักเรียนใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยยังมีปัญหา โดยล่าสุดผลการสำรวจขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ที่สำรวจ 59 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยมีการศึกษากลับอยู่ที่ 52 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 40.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 12 เมษายน 2556

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรด้านต่างๆ ที่ควรนำมาพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร มี 5 ด้าน ดังนี้

พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรด้านต่างๆ ที่ควรนำมาพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร มี 5 ด้าน ดังนี้ 

1. พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา 
2. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา 
3. พื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม 
4. พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง 
5. พื้นฐานทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยี

วิสัยทัศน์ หลักสูตรแกนกลาง 2551

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม* มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ

จุดหมาย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จุดหมาย มี 5 ข้อ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

1. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

2. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต

3. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย

4. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

พื้นฐานการจำ คุณ + รู้+ สุข + จิต +รัก

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ

หลักการ มี 6 ข้อ
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

1. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล

2. เป็นหลักสูตรการศึกษา เพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค และมีคุณภาพ

3. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนอง การกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น

4. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มี โครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลาและการจัดการเรียนรู้

5. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

6. เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษา ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์

พื้นฐานการจำ เอก + ชน+ จาย + ยืด +เน้น + ใน