วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ที่แท้จริง



โดย: ดร. สิทธิพร เอี่ยมเสน
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
Email: sittiporni@gmail.com

มนุษย์จะมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และหลายครั้งของการเรียนรู้เหล่านั้นเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ และเกิดขึ้นภายนอกสถาบันการศึกษา นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์คนนั้นเห็นว่า การเรียนรู้สิ่งใดมีประโยชน์และมีคุณค่า และการมีคุณค่าของการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคน กลุ่มคน เวลา และ สถาณการณ์ในการนำความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้นี้ไปใช้ ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ กระบวนการของการศึกษา วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับบุคคล บางคนเรียนรู้เพื่อมีชีวิตรอด (Survive) บางคนเรียนรู้เพื่อให้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าขึ้น (Thrive) แต่ก็น่าเสียดายที่ว่า โอกาสที่คนจะเรียนรู้และรับประสบการณ์ในการเรียนรู้นั้นไม่เพียงพอ และไม่เท่าเทียมกัน (Gordon & Rebell, 2007) หลักสูตรจะช่วยแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร 

การจัดการการเรียนรู้ในระบบการศึกษาในทุกวันนี้ ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรที่เป็นความรู้อยู่บ้าง สิ่งนั้นก็จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้เรียน ในหลักสูตรที่เน้นตัวเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (Subject-Centered Curriculum) จะมุ่งเน้นความรู้เฉพาะทางที่อยู่ในเนื้อหาทางวิชาการของวิชานั้นๆ แต่เราในฐานะนักการศึกษา ต้องจดจำใว้เสมอว่า การศึกษามิใช่เป็นเพียงแค่กระบวนการเผยแพร่สาระความรู้ที่มีอยู่เท่านั้น แต่กระบวนการทางการศึกษาที่ดีต้องเน้นให้ผู้เรียนได้นำสาระทางวิชาการที่ได้เรียนรู้นั้นไปเพื่อได้รับการพัฒนาและนำไปแสวงหาหรือเพื่อการค้นพบความรู้ใหม่ (Wraga, 2009) การปรับเปลี่ยนมุมมองในสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ (Knowledge) และ มาตรฐานและข้อบังคับ (Standards and Regulations) รวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้อย่างกว้างขวาง การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมโลก และเศรษฐกิจโลกขึ้น การกระจายค่านิยม และความก้าวหน้าของความเป็นประชาธิปไตย ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า การศึกษานั้นมิใช่มีกรอบจำกัดเพียงแค่คำว่า “โรงเรียน” เท่านั้น แต่ค่านิยมและความเชื่อที่ว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ และเพื่อให้ “โรงเรียน” เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาและเป็นแหล่งการเรียนรู้กับคนให้มากที่สุด ครอบคลุมสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หลักสูตรเป็นเสมือนเข็มทิศในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และเป็นสิ่งที่กำหนดและสะท้อนกลับแนวความคิดการเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาให้กับผู้เรียน (Sowell, 2000) 

จึงจำเป็นที่โรงเรียนต้องพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในอดีต หลักสูตรทางการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นเพียงกระบวนการถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้ และทักษะ จากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าและมีการศึกษาสูงกว่า ไปสู่คนที่มีประสบการณ์และการศึกษาที่ต่ำกว่า เท่านั้น ประกอบกับโดยทั่วไปแล้ว สังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาของสังคมเพียงแห่งเดียวที่ให้โอกาสทางการเรียนรู้กับบุคคลในชาติ ทั้งที่การศึกษาเรียนรู้อาจเกิดขึ้นจากภายนอกห้องเรียนและอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นทฤษฎีการจัดการศึกษาจึงมิได้มุ่งเพียงแค่ทฤษฎีเกี่ยวกับในระบบโรงเรียน หากแต่ต้องรวมถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับสมาชิกโดยรวมของสังคม (Gordon & Rebell, 2007) การกำหนดหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงหลักการศึกษาพื้นฐานที่ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต และในทุกสถานการณ์ที่คนมีชีวิตอยู่ร่วม 

หลักปรัชญาที่ควรคำนึงในการกำหนดหลักสูตร 

ในการร่างหลักสูตรการเรียนการสอน ควรต้องคำนึงถึงปรัชญาของโลก ของประเทศ และค่านิยมต่างๆ ความต้องการของสังคม และเป้าหมายของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรัชญาของโลก (World Philosophy) ที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางของการจัดการศึกษา (Webb, Metha & Jordan, 2003) ได้แก่ 
    1. Ontology (Metaphysics): การเรียนรู้ของจริงต่างๆ ที่อยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า 
    2. Epistemology: การเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ 
    3. Axiology: การเรียนรู้ในเรื่องของความดี ความสวยงาม ค่านิยม โดยมาผสมผสานกับ Educational Domains เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ อันได้แก่ 
    1. Cognitive Domain: มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านความรู้ และสติปัญญา 
    2. Affective Domain: มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ดี เกิดความรักในสิ่งที่ได้เรียนรู้และการเรียนรู้ 
    3. Psychomotor Domain: มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ได้เรียนรู้ 


หากเราลองเปรียบเทียบกับองค์ 4 ของการศึกษาไทย กล่าวคือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถ ศึกษา และพลศึกษา เราก็เห็นได้ว่ามีพื้นฐานที่ไม่ต่างกัน ซึ่งก็เป็นที่มาของหลักสูตรปัจจุบันที่เน้นให้ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นข้อสำคัญในการกำหนดหลักสูตร คือ ต้องคำนึงถึงการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและเตรียมตัวผู้เรียนที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม Dewey (1916) เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์นอกโรงเรียน โดย Dewey ได้ระบุว่า การศึกษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ การศึกษาที่ตั้งใจให้เกิดการเรียนรู้ (Deliberate Education) และการศึกษาที่เกิดจากสถาณการณ์หรือเรียนรู้จากสิ่งอื่นๆ (Incidental Education) นักการศึกษามักจะมุ่งเน้นการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองเพียงการศึกษาประเภทแรก และลืมนึกถึงการเตรียมผู้เรียนในการที่จะต้องพบกับสถาณการณ์ที่จะต้องเผชิญและเรียนรู้กับการศึกษาประเภทที่สอง หลักสูตรแม้จะจัดไว้สำหรับนักเรียนในระบบโรงเรียน แต่ก็ต้องเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียนหรือนอกโรงเรียน เพราะได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระบบโรงเรียนของผู้เรียน (Anyon, 2005; Barton, 2003; Gordon, Bridglall & Meroe, 2005) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง หลักสูตรและผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตร ในการกำหนดมาตรฐานของหลักสูตร และกำหนดตัวมาตรฐานต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษา จึงควรได้รับการปฏิรูป หากโรงเรียนและบุคคลที่กำหนดกลไกทางการศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเรียนรู้แล้ว การเรียนรู้ก็คงทิ้งห่างระบบโรงเรียนไปไกล (Collins & Halverson, 2009) การขยายตัวของแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ควรได้รับการคำนึงถึงในการกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน เป็นต้นว่า การจัดการเรียนที่บ้าน (Home Schooling) การเรียนรู้ ณ ที่ทำงาน (Workplace Learning) การศึกษาทางไกล (Distance Learning) ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centers) โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (Educational TV) Video และ Software ต่างๆ รวมถึง Websites ใน Internet สิ่งเหล่านี้มันบอกได้ถึง วิธีการและกระบวนการยุคใหม่แห่งการเรียนรู้และระบบใหม่ของการศึกษา (Collins & Halverson, 2009)  



ใครควรเป็นผู้กำหนดหลักสูตร 

การขยายขอบเขตของหลักสูตรละการจัดการการเรียนรู้ ควรต้องคำนึงสำหรับผู้รับผิดชอบในการออกแบบและกำหนดหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ความรับผิดชอบ (Responsibility)ในการจัดการการศึกษา และ ความคาดหวัง (Expectations) ที่ต้องได้รับการพัฒนาจนไปถึงระดับปัจเจกบุคคล เนื้อหาสาระ (Content) รวมถึงกระบวนการฝึกฝน ความมีวินัยในการเรียน และ การเรียนรู้ที่ว่าจะต้องเรียนอย่างไร วิธีสอน (Pedagogy) ที่จะต้องพัฒนาจากการฝึกฝน จนมีความรู้ความสามารถและสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและสิ่งรอบตัว และสถานที่ 

นักการศึกษาต่างเข้าใจดีว่า หลักสูตรที่ดีนั้น เกิดจากกระบวนการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องของการคิด การวิจัย และการประเมินจากผลสะท้อนกลับของการนำหลักสูตรไปใช้ (Tyler, 1949) ดังนั้น การที่จะได้มาซึ่งผลของความคิดที่ครอบคลุม การวิจัยที่เชื่อถือและยืนยันได้ และผลสะท้อนกลับของการใช้หลักสูตร จึงต้องเกิดจากบุคคลที่หลากหลาย แต่ละบุคคลจากแต่ละฝ่ายจะมีแง่คิด มุมมองและความตั้งใจ รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาคนผ่านกระบวนการของการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม การร่างและ การออกแบบหลักสูตร รวมถึงการพิจารณายอมรับในหลักสูตรไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงของครู ผู้บริหารการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรเท่านั้น การตัดสินใจในการกำหนดหลักสูตร จะเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นปัจจุบันของชุมชน จังหวัด ภาค หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น (Webb, Metha & Jordan, 2003) หลักสูตรที่ดี และเป็นที่ยอมรับของสถานที่หนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีและเกิดสัมฤทธิผลที่ดีกับอีกสถานที่หนึ่ง หรือที่เดี่ยวกัน แต่ในเวลาที่ต่างกันหรือใช้กับผู้เรียนต่างกลุ่มกัน 

วัตถุประสงค์ วิธีการ ความแข็งแกร่งและความสำเร็จของหลักสูตร ควรที่จะได้รับอิทธิพลมาจากบุคคลในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในสายการเมืองการปกครอง สายสังคมศาสตร์ สายเศรษฐศาสตร์ นักการศึกษาเอง หรือแม้กระทั่งบุคคลในสายการศาสนาก็ตาม (Tietelbaum, 1998) ผู้กำหนดหรือผู้ใช้หลักสูตรควรต้องได้รับคำปรึกษาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม และทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จากบุคคลตั้งแต่ ผู้ปกครอง กลุ่มชมรมหรือสมาคมในชุมชน ครู คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ข้าราชการทางการศึกษาของอำเภอและจังหวัด คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ รายงานการศึกษาต่างๆ รัฐบาลของชาติ องค์กรอาชีพต่างๆ ตลอดจนเป้าหมายและมาตรฐานของบุคคลที่พึงประสงค์ในระดับชาติ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่บริษัทเอกชนหลายบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมร่างและกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย บริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ระบุถึงศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงาน ที่ทางบริษัทต้องการ และมหาวิทยาลัยก็จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการ ส่งนักศึกษาเข้าเรียนรู้งานและฝึกงานในบริษัทเหล่านั้น เมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาก็จะมีทักษะตรงตามที่บริษัทต้องการ และพร้อมเข้าทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้เลย โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน 

การกำหนดหลักสูตรที่ดี ก็จะเป็นเสมือนแสงไฟที่ส่องทางไปสู่ความสำเร็จของบุคคลที่เดิน ตามแสไฟที่ส่องนำทางนี้ แสงไฟจึงต้องส่องแสงไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคน มิใช่ส่องไปแบบไร้ทิศทาง อย่างไรก็ตาม หลักสูตรต้องเป็นที่เข้าใจได้ (Comprehensiveness) สำหรับผู้ใช้หลักสูตร ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล (Cogency) มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน (Coherency) และมีความกลมกลืน (Consonance) ทั้งในส่วนของวิชาเดียวกันที่สอนในชั้นที่ต่างระดับกัน ที่เรียกว่า การกลมกลืนและเกี่ยวพันในแนวตั้ง และในส่วนของวิชาที่ต่างกัน แต่สอนในระดับเดียวกัน คือในแนวนอน รวมถึงความเกี่ยวพันกับโครงสร้างและความต้องการของสังคม เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้อย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน 

เอกสารอ้างอิง

Anyon, J. (2005). Radical possibilities. New York: Routledge. 

Barton, P. E. (2003, October). Parsing the achievement gap. Princeton, NJ: Education Testing Service. 

Collins, A. & Halverson, R. (2009). Rethinking education in the age of technology: The digital revolution and school in America. New York: Teachers College Press. 

Dewey, J. (1916). Democracy and education: An introduction to the philosophy of education. New York: Free Press. 

Gordon, E. W., Bridclall, B. L., & Meroe, A. S. (Eds.). (2005). Supplementary education: The hidden curriculum of high academic achievement. Boulder, CO: Rowman and Littlefield Publishers, Inc. 

Gordon, E. W. & Rebell, M. (2007). Toward a comprehensive system of education. Teacher College Record. Vol 109 No. 7 pp. 1836 – 1843. 

Sowell, E. (2000). Curriculum: An integrative introduction (2nd ed.). Upper Saddle River, NJ:Merrill Prentice Hall. 

Tietelbaum, K. (1998). Contestation and the curriculum: The efforts of American socialists, 1900-1920. In L. Beyer & M. Apple (Eds.), The curriculum: Problems, politics and possibilities (pp.34-57). Albany: State University of New York Press. 

Tyler, R. W. (1949). Basic Principles of curriculum and instruction. Chicago: University of Chicago Press. 

Webb, L. D., Metha, A. & Jordan, K. F. (2003). Foundation of American education (4th Ed.). Upper Saddle River, NJ: Merrill Prentice Hall.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น