วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่ม 10 ทักษะ

       เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีการประชุมสัมมนาวิชาการเนื่องในมงคลสมัย 1 ศตวรรษสนามหลวงแผนกธรรม โดย ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เทคนิคการสอนและการออกข้อสอบ ว่า ตนได้รับหน้าที่จากนายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ให้ปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติขึ้นเพื่อ ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานมีตนเป็นประธาน ทั้งนี้ เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบันเป็นหลักสูตรที่ออกมาตั้งแต่ ปี 2544 จึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรให้ทันกับยุคสมัย  เบื้องต้นได้กำหนดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อยู่ในการปรับปรุงหลักสูตร ประกอบด้วย 10 ทักษะ คือ 
         1.แสวงหาความรู้ใหม่ตลอดชีวิต 
         2.คิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ 
         3.คิด ทำงาน เชิงสร้างสรรค์ 
         4.เจริญสติ ปัญญา สร้างความดี 
         5.สื่อสาร ถ่ายทอดความคิด 
         6.ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้ 
         7.ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ 
         8.แก้ปัญหาได้ 
         9.บริหารความแตกแยกได้
       10.ดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ       ศ.ดร.ภาวิชกล่าวต่อ ไปว่า เรื่องทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็น เรื่องที่ระบบการศึกษาของหลายประเทศให้ความสำคัญ  เพราะโลกเปลี่ยน แปลงมากจึงต้องปรับการเรียนการสอนให้นักเรียนใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยยังมีปัญหา โดยล่าสุดผลการสำรวจขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ที่สำรวจ 59 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยมีการศึกษากลับอยู่ที่ 52 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 40.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 12 เมษายน 2556

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรด้านต่างๆ ที่ควรนำมาพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร มี 5 ด้าน ดังนี้

พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรด้านต่างๆ ที่ควรนำมาพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร มี 5 ด้าน ดังนี้ 

1. พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา 
2. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา 
3. พื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม 
4. พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง 
5. พื้นฐานทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยี

วิสัยทัศน์ หลักสูตรแกนกลาง 2551

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม* มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ

จุดหมาย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จุดหมาย มี 5 ข้อ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ จึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

1. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

2. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต

3. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย

4. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

พื้นฐานการจำ คุณ + รู้+ สุข + จิต +รัก

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ

หลักการ มี 6 ข้อ
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

1. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล

2. เป็นหลักสูตรการศึกษา เพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค และมีคุณภาพ

3. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนอง การกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น

4. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มี โครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลาและการจัดการเรียนรู้

5. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

6. เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษา ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์

พื้นฐานการจำ เอก + ชน+ จาย + ยืด +เน้น + ใน

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ที่แท้จริง



โดย: ดร. สิทธิพร เอี่ยมเสน
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
Email: sittiporni@gmail.com

มนุษย์จะมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และหลายครั้งของการเรียนรู้เหล่านั้นเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ และเกิดขึ้นภายนอกสถาบันการศึกษา นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์คนนั้นเห็นว่า การเรียนรู้สิ่งใดมีประโยชน์และมีคุณค่า และการมีคุณค่าของการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคน กลุ่มคน เวลา และ สถาณการณ์ในการนำความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้นี้ไปใช้ ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ กระบวนการของการศึกษา วัตถุประสงค์ของการศึกษาเรียนรู้นั้นขึ้นอยู่กับบุคคล บางคนเรียนรู้เพื่อมีชีวิตรอด (Survive) บางคนเรียนรู้เพื่อให้มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าขึ้น (Thrive) แต่ก็น่าเสียดายที่ว่า โอกาสที่คนจะเรียนรู้และรับประสบการณ์ในการเรียนรู้นั้นไม่เพียงพอ และไม่เท่าเทียมกัน (Gordon & Rebell, 2007) หลักสูตรจะช่วยแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร 

การจัดการการเรียนรู้ในระบบการศึกษาในทุกวันนี้ ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรที่เป็นความรู้อยู่บ้าง สิ่งนั้นก็จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้เรียน ในหลักสูตรที่เน้นตัวเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (Subject-Centered Curriculum) จะมุ่งเน้นความรู้เฉพาะทางที่อยู่ในเนื้อหาทางวิชาการของวิชานั้นๆ แต่เราในฐานะนักการศึกษา ต้องจดจำใว้เสมอว่า การศึกษามิใช่เป็นเพียงแค่กระบวนการเผยแพร่สาระความรู้ที่มีอยู่เท่านั้น แต่กระบวนการทางการศึกษาที่ดีต้องเน้นให้ผู้เรียนได้นำสาระทางวิชาการที่ได้เรียนรู้นั้นไปเพื่อได้รับการพัฒนาและนำไปแสวงหาหรือเพื่อการค้นพบความรู้ใหม่ (Wraga, 2009) การปรับเปลี่ยนมุมมองในสิ่งที่เรียกว่า ความรู้ (Knowledge) และ มาตรฐานและข้อบังคับ (Standards and Regulations) รวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้อย่างกว้างขวาง การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชาชนเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมโลก และเศรษฐกิจโลกขึ้น การกระจายค่านิยม และความก้าวหน้าของความเป็นประชาธิปไตย ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า การศึกษานั้นมิใช่มีกรอบจำกัดเพียงแค่คำว่า “โรงเรียน” เท่านั้น แต่ค่านิยมและความเชื่อที่ว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ และเพื่อให้ “โรงเรียน” เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาและเป็นแหล่งการเรียนรู้กับคนให้มากที่สุด ครอบคลุมสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หลักสูตรเป็นเสมือนเข็มทิศในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และเป็นสิ่งที่กำหนดและสะท้อนกลับแนวความคิดการเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมทางการศึกษาให้กับผู้เรียน (Sowell, 2000) 

จึงจำเป็นที่โรงเรียนต้องพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในอดีต หลักสูตรทางการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นเพียงกระบวนการถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้ และทักษะ จากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าและมีการศึกษาสูงกว่า ไปสู่คนที่มีประสบการณ์และการศึกษาที่ต่ำกว่า เท่านั้น ประกอบกับโดยทั่วไปแล้ว สังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาของสังคมเพียงแห่งเดียวที่ให้โอกาสทางการเรียนรู้กับบุคคลในชาติ ทั้งที่การศึกษาเรียนรู้อาจเกิดขึ้นจากภายนอกห้องเรียนและอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นทฤษฎีการจัดการศึกษาจึงมิได้มุ่งเพียงแค่ทฤษฎีเกี่ยวกับในระบบโรงเรียน หากแต่ต้องรวมถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับสมาชิกโดยรวมของสังคม (Gordon & Rebell, 2007) การกำหนดหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงหลักการศึกษาพื้นฐานที่ว่า การศึกษาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต และในทุกสถานการณ์ที่คนมีชีวิตอยู่ร่วม 

หลักปรัชญาที่ควรคำนึงในการกำหนดหลักสูตร 

ในการร่างหลักสูตรการเรียนการสอน ควรต้องคำนึงถึงปรัชญาของโลก ของประเทศ และค่านิยมต่างๆ ความต้องการของสังคม และเป้าหมายของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรัชญาของโลก (World Philosophy) ที่เป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางของการจัดการศึกษา (Webb, Metha & Jordan, 2003) ได้แก่ 
    1. Ontology (Metaphysics): การเรียนรู้ของจริงต่างๆ ที่อยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า 
    2. Epistemology: การเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ 
    3. Axiology: การเรียนรู้ในเรื่องของความดี ความสวยงาม ค่านิยม โดยมาผสมผสานกับ Educational Domains เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ อันได้แก่ 
    1. Cognitive Domain: มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านความรู้ และสติปัญญา 
    2. Affective Domain: มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ดี เกิดความรักในสิ่งที่ได้เรียนรู้และการเรียนรู้ 
    3. Psychomotor Domain: มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ได้เรียนรู้ 


หากเราลองเปรียบเทียบกับองค์ 4 ของการศึกษาไทย กล่าวคือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถ ศึกษา และพลศึกษา เราก็เห็นได้ว่ามีพื้นฐานที่ไม่ต่างกัน ซึ่งก็เป็นที่มาของหลักสูตรปัจจุบันที่เน้นให้ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นข้อสำคัญในการกำหนดหลักสูตร คือ ต้องคำนึงถึงการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและเตรียมตัวผู้เรียนที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม Dewey (1916) เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์นอกโรงเรียน โดย Dewey ได้ระบุว่า การศึกษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ การศึกษาที่ตั้งใจให้เกิดการเรียนรู้ (Deliberate Education) และการศึกษาที่เกิดจากสถาณการณ์หรือเรียนรู้จากสิ่งอื่นๆ (Incidental Education) นักการศึกษามักจะมุ่งเน้นการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองเพียงการศึกษาประเภทแรก และลืมนึกถึงการเตรียมผู้เรียนในการที่จะต้องพบกับสถาณการณ์ที่จะต้องเผชิญและเรียนรู้กับการศึกษาประเภทที่สอง หลักสูตรแม้จะจัดไว้สำหรับนักเรียนในระบบโรงเรียน แต่ก็ต้องเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียนหรือนอกโรงเรียน เพราะได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระบบโรงเรียนของผู้เรียน (Anyon, 2005; Barton, 2003; Gordon, Bridglall & Meroe, 2005) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง หลักสูตรและผู้ที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตร ในการกำหนดมาตรฐานของหลักสูตร และกำหนดตัวมาตรฐานต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการศึกษา จึงควรได้รับการปฏิรูป หากโรงเรียนและบุคคลที่กำหนดกลไกทางการศึกษาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเรียนรู้แล้ว การเรียนรู้ก็คงทิ้งห่างระบบโรงเรียนไปไกล (Collins & Halverson, 2009) การขยายตัวของแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ควรได้รับการคำนึงถึงในการกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน เป็นต้นว่า การจัดการเรียนที่บ้าน (Home Schooling) การเรียนรู้ ณ ที่ทำงาน (Workplace Learning) การศึกษาทางไกล (Distance Learning) ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centers) โทรทัศน์เพื่อการศึกษา (Educational TV) Video และ Software ต่างๆ รวมถึง Websites ใน Internet สิ่งเหล่านี้มันบอกได้ถึง วิธีการและกระบวนการยุคใหม่แห่งการเรียนรู้และระบบใหม่ของการศึกษา (Collins & Halverson, 2009)  



ใครควรเป็นผู้กำหนดหลักสูตร 

การขยายขอบเขตของหลักสูตรละการจัดการการเรียนรู้ ควรต้องคำนึงสำหรับผู้รับผิดชอบในการออกแบบและกำหนดหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ความรับผิดชอบ (Responsibility)ในการจัดการการศึกษา และ ความคาดหวัง (Expectations) ที่ต้องได้รับการพัฒนาจนไปถึงระดับปัจเจกบุคคล เนื้อหาสาระ (Content) รวมถึงกระบวนการฝึกฝน ความมีวินัยในการเรียน และ การเรียนรู้ที่ว่าจะต้องเรียนอย่างไร วิธีสอน (Pedagogy) ที่จะต้องพัฒนาจากการฝึกฝน จนมีความรู้ความสามารถและสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและสิ่งรอบตัว และสถานที่ 

นักการศึกษาต่างเข้าใจดีว่า หลักสูตรที่ดีนั้น เกิดจากกระบวนการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องของการคิด การวิจัย และการประเมินจากผลสะท้อนกลับของการนำหลักสูตรไปใช้ (Tyler, 1949) ดังนั้น การที่จะได้มาซึ่งผลของความคิดที่ครอบคลุม การวิจัยที่เชื่อถือและยืนยันได้ และผลสะท้อนกลับของการใช้หลักสูตร จึงต้องเกิดจากบุคคลที่หลากหลาย แต่ละบุคคลจากแต่ละฝ่ายจะมีแง่คิด มุมมองและความตั้งใจ รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาคนผ่านกระบวนการของการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม การร่างและ การออกแบบหลักสูตร รวมถึงการพิจารณายอมรับในหลักสูตรไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงแค่แวดวงของครู ผู้บริหารการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรเท่านั้น การตัดสินใจในการกำหนดหลักสูตร จะเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นปัจจุบันของชุมชน จังหวัด ภาค หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น (Webb, Metha & Jordan, 2003) หลักสูตรที่ดี และเป็นที่ยอมรับของสถานที่หนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ดีและเกิดสัมฤทธิผลที่ดีกับอีกสถานที่หนึ่ง หรือที่เดี่ยวกัน แต่ในเวลาที่ต่างกันหรือใช้กับผู้เรียนต่างกลุ่มกัน 

วัตถุประสงค์ วิธีการ ความแข็งแกร่งและความสำเร็จของหลักสูตร ควรที่จะได้รับอิทธิพลมาจากบุคคลในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในสายการเมืองการปกครอง สายสังคมศาสตร์ สายเศรษฐศาสตร์ นักการศึกษาเอง หรือแม้กระทั่งบุคคลในสายการศาสนาก็ตาม (Tietelbaum, 1998) ผู้กำหนดหรือผู้ใช้หลักสูตรควรต้องได้รับคำปรึกษาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม และทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จากบุคคลตั้งแต่ ผู้ปกครอง กลุ่มชมรมหรือสมาคมในชุมชน ครู คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ข้าราชการทางการศึกษาของอำเภอและจังหวัด คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ รายงานการศึกษาต่างๆ รัฐบาลของชาติ องค์กรอาชีพต่างๆ ตลอดจนเป้าหมายและมาตรฐานของบุคคลที่พึงประสงค์ในระดับชาติ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่บริษัทเอกชนหลายบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมร่างและกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย บริษัทเหล่านี้จะเป็นผู้ระบุถึงศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและทักษะในการทำงาน ที่ทางบริษัทต้องการ และมหาวิทยาลัยก็จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการ ส่งนักศึกษาเข้าเรียนรู้งานและฝึกงานในบริษัทเหล่านั้น เมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาก็จะมีทักษะตรงตามที่บริษัทต้องการ และพร้อมเข้าทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้เลย โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน 

การกำหนดหลักสูตรที่ดี ก็จะเป็นเสมือนแสงไฟที่ส่องทางไปสู่ความสำเร็จของบุคคลที่เดิน ตามแสไฟที่ส่องนำทางนี้ แสงไฟจึงต้องส่องแสงไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคน มิใช่ส่องไปแบบไร้ทิศทาง อย่างไรก็ตาม หลักสูตรต้องเป็นที่เข้าใจได้ (Comprehensiveness) สำหรับผู้ใช้หลักสูตร ต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล (Cogency) มีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน (Coherency) และมีความกลมกลืน (Consonance) ทั้งในส่วนของวิชาเดียวกันที่สอนในชั้นที่ต่างระดับกัน ที่เรียกว่า การกลมกลืนและเกี่ยวพันในแนวตั้ง และในส่วนของวิชาที่ต่างกัน แต่สอนในระดับเดียวกัน คือในแนวนอน รวมถึงความเกี่ยวพันกับโครงสร้างและความต้องการของสังคม เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประโยชน์ของการเรียนรู้อย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน 

เอกสารอ้างอิง

Anyon, J. (2005). Radical possibilities. New York: Routledge. 

Barton, P. E. (2003, October). Parsing the achievement gap. Princeton, NJ: Education Testing Service. 

Collins, A. & Halverson, R. (2009). Rethinking education in the age of technology: The digital revolution and school in America. New York: Teachers College Press. 

Dewey, J. (1916). Democracy and education: An introduction to the philosophy of education. New York: Free Press. 

Gordon, E. W., Bridclall, B. L., & Meroe, A. S. (Eds.). (2005). Supplementary education: The hidden curriculum of high academic achievement. Boulder, CO: Rowman and Littlefield Publishers, Inc. 

Gordon, E. W. & Rebell, M. (2007). Toward a comprehensive system of education. Teacher College Record. Vol 109 No. 7 pp. 1836 – 1843. 

Sowell, E. (2000). Curriculum: An integrative introduction (2nd ed.). Upper Saddle River, NJ:Merrill Prentice Hall. 

Tietelbaum, K. (1998). Contestation and the curriculum: The efforts of American socialists, 1900-1920. In L. Beyer & M. Apple (Eds.), The curriculum: Problems, politics and possibilities (pp.34-57). Albany: State University of New York Press. 

Tyler, R. W. (1949). Basic Principles of curriculum and instruction. Chicago: University of Chicago Press. 

Webb, L. D., Metha, A. & Jordan, K. F. (2003). Foundation of American education (4th Ed.). Upper Saddle River, NJ: Merrill Prentice Hall.